การเรียนหนักช่วยพัฒนาคนไทยจริงหรือไม่?

PISA
              นักเรียนไทยรุ่นใหม่แทบทุกคนเคยเรียนพิเศษเพื่อให้สอบได้คะแนนดี สอบเข้าคณะที่ต้องการได้ ฯลฯ แต่หากศักยภาพในการพัฒนาประเทศขึ้นอยู่กับคุณภาพประชากร หากคุณภาพประชากรขึ้นอยู่กับคุณภาพการศึกษา และหากคุณภาพการศึกษาขึ้นอยู่กับความสามารถของนักเรียนในการเข้าใจสาระที่เรียนอย่างถ่องแท้ เราอาจจะต้องตั้งคำถามว่าการเรียนหนักและการกวดวิชาสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพประชากรได้จริงหรือ?
ดังที่เคยนำเสนอไปแล้ว ว่าทางหนึ่งที่จะวัดความเข้าใจในสาระวิชาของนักเรียนโดยใช้มาตรฐานเดียวกันในระดับนานาชาติ คือ การทดสอบ PISAโดยผลการศึกษาของ PISA ฉบับล่าสุดที่ทำในปี 2009 นอกจากจะรายงานผลการทดสอบแล้ว ยังมีผลการศึกษาที่น่าสนใจสองประการซึ่งเราแสดงไว้เป็นกราฟในภาพ คือ
1. กราฟซ้ายแสดงคะแนน PISA เป็นฟังก์ชันของจำนวนชั่วโมงที่นักเรียนแต่ละประเทศเรียนวิทยาศาสตร์ จะเห็นว่ากราฟนั้นค่อนข้างเรียบและมีความสัมพันธ์ไปในทางลบเล็กน้อย นั่นคือการใช้เวลาเรียนมากขึ้นไม่ได้ส่งผลให้เข้าใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซ้ำร้ายการใช้เวลาเรียนมากเกินไปยังส่งผลในเชิงลบต่อความเข้าใจเสียด้วย (หมายเหตุ: ดูกราฟต้นฉบับใน หน้า 386)
ผลการศึกษานี้ขัดกับสามัญสำนึกว่าหาก “เรียนมาก” ก็น่าจะทำคะแนนได้ดีกว่า ซึ่งไม่เป็นความจริง
2. กราฟขวาแสดงคะแนน PISA เป็นฟังก์ชันของเปอร์เซนต์ของชั่วโมงเรียนวิทยาศาสตร์ที่เรียนในโรงเรียน (ส่วนที่เหลือคือการเรียนกวดวิชา) ประเทศที่เปอร์เซนต์น้อยแปลว่าเรียนในห้องเรียนน้อยและเรียนพิเศษมาก เช่น เม็กซิโก ชิลี บราซิล ส่วนประเทศที่เปอร์เซนต์สูงแปลว่าใช้เวลาเรียนในห้องเรียนมากและเรียนพิเศษเป็นสัดส่วนน้อยกว่า เช่น ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น
กราฟนี้แสดงว่ายิ่งให้ความสำคัญกับเวลาเรียนในห้องเรียนมากก็จะยิ่งเข้าใจสาระที่เรียนได้มาก และหากเรียนกวดวิชากันเป็นสัดส่วนมากจะกลับมีความเข้าใจน้อยลง ทั้งนี้ ควรเป็นที่สังเกตว่าข้อมูลนี้ไม่ได้แสดงว่าความเข้าใจในสาระวิชานั้นถูกลดด้อยลงเพราะคุณภาพการเรียนในห้องหรือการกวดวิชา เพียงแต่บอกว่าประเทศที่นักเรียนใช้เวลาไปกับการเรียนกวดวิชาเป็นสัดส่วนน้อยกว่าจะมีความเข้าใจในสาระวิชามากกว่า ซึ่งอาจจะเป็นไปได้เช่นกันว่าว่าประเทศที่มีการเรียนพิเศษน้อยและมีระดับความเข้าใจในสาระวิชาสูงเป็นผลของการศึกษาภาคบังคับที่มีประสิทธิภาพมาก (หมายเหตุ: ดูกราฟต้นฉบับใน หน้า 386 และอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องผลของการกวดวิชาได้ใน Box D1.2. “Does investing in after-school classes pay off?”; ทีมงานไม่มีข้อมูลเปอร์เซนต์ของเวลาเรียนวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนสำหรับประเทศไทย จึงแสดงระยะประมาณที่ 45-60 เปอร์เซนต์ไว้ในกราฟ)
ผลวิจัยนี้ชี้ว่าแม้การเรียนพิเศษหรือกวดวิชาอาจจะทำให้สอบเก่งขึ้น เข้าคณะที่ต้องการได้ ฯลฯ แต่กลับไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจในสาระวิชาอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศ
เราอาจกล่าวได้เช่นกันว่าคุณภาพการเรียนในห้องเรียนของแต่ละประเทศ ย่อมส่งผลต่อสัดส่วนการเรียนในห้อง/เรียนพิเศษ แต่ถึงแม้ประเทศที่ (เชื่อกันว่า) การเรียนในห้องมีคุณภาพสูง ผลการศึกษาในข้อ 1 ก็แสดงให้เห็นอยู่ดีว่ายิ่งเรียนมาก ยิ่งทำคะแนนสอบได้น้อย แอดมินย้ำว่าผลการศึกษาทั้งสองไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงแห่งเดียว แต่เป็นธรรมชาติของระบบการศึกษาทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ไม่ได้พิเศษแตกต่างแต่อย่างไร
แน่นอนว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพประชากรเป็นปัญหาที่สำคัญและต้องการการแก้ไขจากทุกฝ่าย เราคงไม่สามารถกล่าวได้ว่านี่คือความผิดของ ครู นักเรียน เจ้าของโรงเรียนกวดวิชา ติวเตอร์ รัฐบาล ระบบการศึกษา หรือใครคนใดคนหนึ่ง
หากเราทุกคนช่วยกัน “ตั้งคำถาม” ว่ามีอะไรผิดบ้าง ช่วยกัน “ตอบคำถาม” ว่าเราจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง และช่วยกัน “สอดส่อง” ว่ามีอะไรบ้างที่ตัวเราสามารถทำได้อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในภาพรวม นี่อาจเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยลดการสูญเสียศักยภาพของประชากรไทยไปโดยใช่เหตุได้
ที่มา http://whereisthailand.info/2012/01/pisa-class-tutor/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น